ความสำคัญของเมืองเขลางค์สมัยราชวงศ์มังราย (พ.ศ. ๑๘๔๕ - ๒๑๐๑)
ในสมัยราชวงศ์มังราย เขลางค์นครเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของอาณาจักรลานนาไทย ปรากฏชื่อในตำนานพื้นเมืองว่าเมืองนคร เจ้าเมืองมียศเป็นหมื่น ในสมัยพระเจ้าติโลกราช เชียงใหม่ทำสงครามเพื่อแย่งชิงหัวเมืองไทยเหนือกับกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ นครลำปางเป็นแหล่งชุมนุมทัพที่สำคัญ ของพระเจ้าติโลกราชทรงแต่งตั้งให้หมื่นด้งนครเป็นเจ้าเมือง จนกระทั่งสามารถตีเมืองเชลียงไว้ได้ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๐๕๘ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ได้ยกกองทัพมาตี นครลำปาง โดยเข้าทางประตูนางเหลี่ยว แล้วอัญเชิญพระสิขีปฏิมากร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญไปจากวัดกู่ขาว
นครลำปางเป็นหัวเมืองสำคัญของลานนาไทย มาจนถึงสมัยพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์ แห่งกรุงหงสาวดี ได้แผ่อำนาจเข้าครอบครองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๑ นับตั้งแต่นั้นมาลานนาไทย ทั้งปวงจึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่ามาเป็นเวลานานกว่า ๒๐๐ ปี บางครั้งก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยาบ้าง เช่น ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ยุคแห่งการกอบกู้บ้านเมืองของชาวนครลำปาง
นับตั้งแต่สมัยพระเจ้าบุเรงนองเป็นต้นมา พม่าได้จัดส่งเจ้านายมากำกับการปกครอง หัวเมืองลานนาไทย โดยมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เชียงใหม่ ต่อมาระยะหลังได้ ย้ายไปอยู่ที่ เชียงแสน
การปกครองของพม่าระยะหลังมิได้มุ่งให้หัวเมืองลานนาไทยเป็นประเทศราชอย่างแท้จริงดังแต่ก่อน เพราะมีการกบฏบ่อยครั้ง ประกอบกับพม่าต้องทำสงครามกับมอญ จึงปกครองชาวลานนาอย่างกดขี่และเข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้น ทำให้ชาวลานนาไทยหลายกลุ่มลุกฮือขึ้นต่อสู้ แต่ก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งถึงสมัยของเจ้าพระยาสุลวะลือไชยสงคราม หรือ "หนานทิพย์ช้าง" สามารถขับไล่พม่าออกจากเมืองลำปางได้สำเร็จ ต่อมาบ้านเมืองก็ประสบความวุ่นวายอีก ทางเมืองนครลำปางเกิดการแย่ง ชิงอำนาจ ระหว่างเจ้าชายแก้ว (ลูกของหนานทิพย์ช้าง) เจ้าเมืองนครลำปาง กับท้าวลิ้นก่าน เจ้าเมืองคนเดิมแต่เจ้าชายแก้วสู้ไม่ได้ จึงหนีไปพึ่งเจ้าเมืองแพร่ ภายหลังจากที่พม่ากลับเข้ามามีอำนาจใน ลานนาไทยอีก ได้พิจารณาคดีนี้ โดยให้เจ้าชายแก้วและท้าวลิ้นก่านดำน้ำแข่งกัน ปรากฏว่าท้าวลิ้นก่าน พ่ายแพ้ จึงถูกพม่าประหารชีวิต พร้อมทั้งริบทรัพย์สินและครอบครัว สำหรับสถานที่ที่ดำน้ำชิงเมือง อยู่บริเวณหน้าวัดปงสนุก ซึ่งแม่น้ำวังไหลผ่านในสมัยนั้นยังมีศาลท้าวลิ้นก่านปรากฏอยู่ตรงข้าง วัดปงสนุกมาจนกระทั่งทุกวันนี้
พม่าแต่งตั้งให้เจ้าชายแก้วเป็นที่ "เจ้าฟ้าหลวงไชยแก้ว" ครองเมืองนครลำปาง แต่พม่า ยังปกครองชาวนครลำปางอย่างกดขี่ทารุณอยู่ หากผู้ใดขัดขืนก็จะถูกลงโทษอย่างหนัก นับตั้งแต่ การจองจำ ริบทรัพย์สมบัติ ลูกเมีย ไปจนถึงการประหารชีวิต อันเป็นสภาวะที่ชาวนครลำปางสุดแสนจะทนทานต่อไปได้
ดังนั้นเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีบัญชาให้เจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์ (รัชกาลที่ ๑ และสมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) ยกกองทัพไปตีเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๓๑๔ เจ้ากาวิละ (โอรสของเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว) จึงพาอนุชาทั้งหกเข้าสวามิภักดิ์ แล้วนำทหารชาวนครลำปางเข้าสมทบยกขึ้นไปตีเชียงใหม่พม่าได้จับเจ้าฟ้าหลวงชายแก้วไว้เป็นประกัน เมื่อกองทัพไทยยกขึ้นไปเชียงใหม่ เจ้ากาวิละ จึงนำทหารชาวนครลำปางตีหักเข้าเมืองได้ก่อนช่วย พระบิดาออกจากที่คุมขังได้สำเร็จ แล้วนำกำลังสมทบกับกองทัพไทยใต้ตีพม่าแตกพ่ายไป
ความดีความชอบครั้งนี้ เจ้ากาวิละได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมือง "นครลำปาง" และต่อมาเลื่อนเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ตามลำดับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น