Search more

วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ความสัมพันธ์ระหว่างนครลำปางกับกรุงเทพ

ความสัมพันธ์ระหว่างนครลำปางกับกรุงเทพฯ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ความสัมพันธ์ระหว่างนครลำปางกับกรุงเทพฯ  เป็นผลสืบเนื่องมาจากเจ้ากาวิละและ    พระอนุชา ได้นำเอาบ้านเมืองเข้าสวามิภักดิ์ต่อกองทัพไทยที่ยกขึ้นไปตีพม่าที่เชียงใหม่ ใน พ.. ๒๓๑๔

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านครลำปางกับราชวงศ์จักรีมีความผูกพันกันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพราะเจ้านายฝ่ายเหนือต้องการสวามิภักดิ์ต่อคนไทยด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติ เนื่องจากสมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาทได้สู่ขอเจ้าศรีอโนชา กนิษฐาของเจ้ากาวิละเป็นชายาทางกรุงเทพฯก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่เมืองนครลำปางอย่างสม่ำเสมอด้วยดีตลอดมา บรรดาเจ้านายฝ่ายเหนือได้รับยกย่องให้มีฐานะสูงขึ้น เป็นถึงเจ้าประเทศราช อย่างไรก็ตามพม่าก็มิได้ลดละความพยายามที่จะกลับเข้ามามีอิทธิพลในลานนาไทยอีก เพื่อใช้เป็นแหล่งสะสมผู้คนและเสบียงอาหาร     เข้าโจมตีกรุงเทพ ฯ 

สงครามคราวพม่าตีนครลำปาง  และป่าซาง  (.. ๒๓๓๐)

หลังจากที่พระเจ้าปะดุงพ่ายแพ้แก่กองทัพไทยไปจากสงครามเก้าทัพ (.. ๒๓๒๘) และสงครามที่ท่าดินแดง (.. ๒๓๒๙) แล้ว บรรดาหัวเมืองประเทศราชลื้อ เขิน ของพม่าแถบเมืองเชียงตุง เชียงรุ้ง เมืองสาด เมืองปุก็พากันกระด้างกระเดื่องแข็งเมือง พระเจ้าปะดุงจึงโปรดให้ยกกองทัพไป  ปราบปรามใน พ.. ๒๓๓๐ โดยมีหวุ่นยีมหาชัยสุระเป็นแม่ทัพใหญ่ คุมรี้พล ๔๕,๐๐๐ คน ลงมาทางหัวเมืองไทยใหญ่ ครั้นยกมาถึงเมืองนายได้แบ่งกำลังออกเป็นสองส่วนออกปราบบรรดาหัวเมืองที่กระด้างกระเดื่อง สำหรับกองทัพพม่าที่ยกเข้าทางหัวเมืองลานนาไทย จอข่องนรทาเป็นแม่ทัพคุมรี้พล ๕,๐๐๐ คน ยกลงมายึดเมืองฝางไว้เป็นแหล่งชุมนุมพล และสะสมเสบียงอาหารไว้รอกำลังส่วนใหญ่เพื่อเตรียมเข้าตีนครลำปาง

ฝ่ายโปมะยุง่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่ซึ่งหลบหนีกองทัพไทยไปอยู่เมืองเชียงแสนมีกำลังรักษาบ้านเมืองไม่มากนัก เพราะกำลังส่วนหนึ่งถูกเกณฑ์ไปช่วยทำนาที่เมืองฝาง จึงทำให้พระยาแพร่       ชือมังชัย และพระยายองเห็นเป็นโอกาสคุมกำลังเข้าโจมตีเมืองเชียงแสนโปมะยุง่วนสู้ไม่ได้หนีไปอาศัยอยู่กับพระยาเชียงราย จึงถูกพระยาเชียงรายควบคุมตัวส่งแก่ พระยาแพร่ และพระยายอง แล้วพระยาแพร่และพระยายองคุมตัวส่งแก่เจ้ากาวิละ ที่นครลำปางเนื่องจากเห็นว่าโปมะยุง่วนเป็นบุคลสำคัญระดับเจ้าเมือง ทางนครลำปางจึงคุมตัวส่งลงไปถวายยังกรุงเทพฯ การจับโปมะยุง่วนเป็นเชลยได้   กลายเป็นผลดีต่อฝ่ายไทยอย่างมาก เพราะได้นำตัวไปสอบสวนข้อราชการสงคราม ทำให้ทราบข่าว   แน่ชัดว่า พม่าเตรียมกองทัพเข้ามาตีนครลำปางในฤดูแล้ง เมื่อตีได้แล้วก็จะกลับไปตั้งมั่นอยู่ที่เชียงใหม่ อีกครั้งหนึ่ง(คำให้การของโปมะยุง่วนต่อมากลายเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ฉบับหนึ่ง         ที่เรียกว่า คำให้การของชาวอังวะ)

การที่พม่ามีนโยบายเข้ามายึดเชียงใหม่เป็นที่มั่น นับว่าเป็นอันตรายต่อบรรดาหัวเมืองเหนือทั้งปวง ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงคิดหาทางป้องกันไว้ก่อน โดยมีพระบรมราชโองการให้เจ้ากาวิละแบ่งครอบครัวจากนครลำปางส่วนหนึ่ง ขึ้นไปรักษาเมืองเชียงใหม่ ส่วนทางเมืองนครลำปางโปรดให้เจ้าคำโสมอนุชา เจ้ากาวิละเป็นเจ้าเมืองสืบแทน เนื่องจากมีกำลังน้อยเจ้ากาวิละเห็นว่าไม่เพียงพอที่จะรักษาเมืองเชียงใหม่ ที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม เพราะเป็นเมืองร้างมาหลายปี ดังนั้นจึงอพยพครอบครัวไปตั้งที่ป่าซางก่อนเป็นการชั่วคราว โดยมีกองทหารจากเมืองสวรรคโลก              และกำแพงเพชรยกขึ้นมาช่วยป้องกันบ้านเมือง ในระหว่างนั้นได้รวบรวมผู้คนที่กระจัดกระจายบริเวณชายแดน มาไว้ในบ้านเมืองตามนโยบายที่เรียกว่า "เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง" แต่ยังไม่ทันจะอพยพขึ้นไปตั้งมั่นที่เชียงใหม่  พม่าก็ได้ยกกองทัพมาโจมตีเสียก่อน ดังนั้นจึงตั้งมั่นอยู่ที่ป่าซางถึง ๕ ปี เศษ

ครั้นถึงฤดูแล้ง พ.. ๒๓๓๐ กองทัพของหวุ่นยีมหาชัยสุระยกลงจากเชียงตุงเข้ายึดเชียงใหม่คืน ตีเชียงรายแล้วเข้าสมทบกับกองทัพของจอข้องนรทาที่ฝาง รวมรี้พลได้ ราว ๓๐,๐๐๐ คน ยกลงมาทางเมืองพะเยา เข้าตีนครลำปาง ส่วนทางป่าซางพระเจ้าปะดุงทรงมีรับสั่งให้ยีแข่งอุเมงคีโป  คุมกำลัง ๑๖,๐๐๐ คน* จากเมืองเมาะตะมะ เข้าโจมตีล้อมไว้ป้องกันมิให้ยกไปช่วยทางนครลำปาง   ฝ่ายกองทัพพม่าที่ล้อมนครลำปาง เจ้าคำโสมได้นำทัพชาวเมืองต่อสู้ป้องกันบ้านเมืองไว้อย่างเข้มแข็ง พม่าพยายามเข้าปล้น เมืองหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จจึงตั้งค่ายล้อมไว้ให้ขาดเสบียงอาหาร

ขณะนั้นทางกรุงเทพฯ  กำลังเตรียมกองทัพจะไปตีเมืองทวาย ครั้นทราบข่าวการศึกทางหัวเมืองเหนือ จึงโปรดให้พระอนุชาธิราช สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท    ยกขึ้นมาช่วย พอยกขึ้นมาถึงนครลำปาง โปรดให้ตั้งค่ายโอบล้อม พม่าไว้อีกชั้นหนึ่ง เมื่อพร้อมแล้วก็ ส่งสัญญาณให้กองกำลังในเมืองตีกระหนาบออกมาพร้อมกัน พม่าสู้ไม่ได้จึงแตกพ่ายหนีกลับไปยัง   เชียงแสน ส่วนที่ป่าซางกองทัพไทยก็ได้ยกขึ้นไปช่วยตีกระหนาบข้าศึกแตกพ่ายไป เช่นเดียวกัน

ภายหลังเสร็จจากการศึกสงครามคราวนี้ เจ้ากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่และเจ้าคำโสม     เจ้าเมืองนครลำปาง ได้พาพระอนุชา (เจ้าเจ็ดตน) เข้าเฝ้าสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท   แล้วถวายพระพุทธสิหิงค์ให้นำไปประดิษฐาน ณ กรุงเทพ ฯ  มาจนกระทั่งทุกวันนี้

ในปีจุลศักราช ๑๑๘๑ (.. ๒๓๓๗) เจ้ากาวิละได้เรียกพระอนุชาทั้ง ๖ เข้าเฝ้าแล้ว         มีโอวาทคำสอน โดยมุ่งให้มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งมีสาระสำคัญ     ตอนหนึ่งว่า

"ตั้งแต่เจ้าเราทั้งหลายไปภายหน้าสืบไป ถึงชั่วลูก ชั่วหลาน เหลน หลีด หลี้ ตราบสิ้น   ราชตระกูลแห่งเราทั้งหลาย แม้นว่าลูกหลาน เหลน หลีด หลี้ บุคคลใดยังมีใจใคร่กบฏ คิดสู้รบกับ    พระมหากษัตริย์เจ้า แห่งราชวงศ์จักรี แล้วเอาตัวและบ้านเมืองไปพึ่งเป็น ข้าม่าน ข้าฮ่อ ข้ากูลา ข้าแก๋ว ข้าญวน ขอผู้นั้นให้วินาศฉิบหาย ตายวาย พลันฉิบหายเหมือนกอกล้วย พลันม้วยเหมือนกอเลา กอคา ตายไปแล้วก็ขอให้ตกนรกแสนมหากัปป์ อย่าได้เกิดได้งอก ผู้ใดยังอยู่ตามโอวาทคำสอนแห่งเรา        อันเป็นเจ้าพี่ ก็ขอให้อยู่สุข วุฒิจำเริญ ขอให้มีเตชะฤทธีอนุภาพปราบชนะศัตรูมีฑีฆา อายุมั่นยืนยาว"



*  หลักฐานใน  "ไทยรบพม่า"  หน้า  ๕๙๓  ว่าชื่อ  เลตะละสีหะสิงครัน  เป็นแม่ทัพ  จำนวนพล  ๓๕,๐๐๐  คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น