Search more

วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สงครามคราวพม่าตีเชียงใหม่

สงครามคราวพม่าตีเชียงใหม่ (.. ๒๓๔๐)

ภายหลังจากกองทัพพม่าพ่ายแพ้แก่กองทัพไทยไป เมื่อครั้งตีนครลำปางและป่าซาง       ในปี พ.. ๒๓๓๐ เจ้ากาวิละจึงได้อพยพผู้คนจากป่าซาง ขึ้นไปตั้งมั่นที่เชียงใหม่ ใน พ.. ๒๓๓๙     ยังจัดราชการบ้านเมืองไม่เป็นที่เรียบร้อย พม่าก็ยกกองทัพเข้ามาโจมตี ใน พ.. ๒๓๔๐ ทั้งนี้เพราะพระเจ้าปะดุงยังคิดเสียดายอาณาเขตในแคว้นลานนาไทยอยู่ จึงสั่งให้เนมะโยกยอดินสีหะสุระคุมกองทัพมาประชุมพลที่เมืองนาย รวมรี้พล ๕๕,๐๐๐ คน จัดเป็น ๗ กองทัพ พม่าจัดวางกำลังล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้อย่างแน่นหนาถึง ๓ ชั้น ประสงค์จะตีหักเอาเมืองให้ได้ แต่เจ้ากาวิละก็สามารถคุมกำลัง  ป้องกันเมืองไว้ได้

ทางกรุงเทพฯเมื่อทราบข่าวศึกเมืองเชียงใหม่จึงโปรดให้สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จยกกองทัพขึ้นมาช่วยเหลือ ประชุมทัพที่นครลำปาง ส่งกองทัพหน้าเข้าตีค่ายพม่าซึ่งสกัดอยู่ที่ลำพูน และป่าซางแตกพ่ายไป แล้วกองทหารชาวนครลำปางได้สมทบกับกองทัพหลวง รวม ๔๐,๐๐๐ คน ยกขึ้นไปตีกระหนาบพม่าที่ล้อมเชียงใหม่แตกพ่ายไปอย่างยับเยิน จับเชลยอาวุธ  และช้างม้าพาหนะไว้ได้จำนวนมาก

  สงครามขับไล่พม่าออกจากเขตแดนลานนาไทย (.. ๒๓๔๕ - ๒๓๔๗)

ภายหลังจากกองทัพพม่าพ่ายแก่กองทัพไทยในสงครามพม่าตีเชียงใหม่แล้ว ต่อมาในปี พ.. ๒๓๔๔ เจ้ากาวิละได้เกณฑ์กำลังจากหัวเมืองเหนือไปโจมตีเมืองสาด หัวเมืองประเทศราชของพม่าเป็นการตอบแทนบ้าง จับได้เจ้าเมืองกับลูกชายรวมทั้งทูตพม่าซึ่งส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีกับ    ตังเกี๋ยลงไปถวายยังกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังกวาดต้อนครอบครัว ชาวเมืองสาดประมาณ ๕,๐๐๐ คน มาใส่บ้านเมือง เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้พระเจ้าปะดุงขัดเคืองมาก จึงโปรดให้อินแซะหวุ่น คุมกองทัพ ๔๐,๐๐๐ คน มาตีเชียงใหม่ ใน พ.. ๒๓๔๕

สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จยกกองทัพไทยขึ้นมาช่วยเหมือนครั้งก่อน ครั้นถึงเมืองเถินพระองค์ประชวรเป็นโรคนิ่ว ไม่สามารถ เสด็จต่อไปได้อีก จึงแต่ง   กองทัพขึ้นมาสมทบกับกองทัพของนครลำปาง ขึ้นไปช่วยทางเชียงใหม่จนสามารถขับไล่พม่าแตกพ่ายไป เมื่อเสร็จสงคราม เจ้ากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่ และเจ้าดวงทิพเจ้าเมืองนครลำปาง ได้พากันไปเฝ้าสมเด็จพระอนุชาธิราชที่เมืองเถิน ทรงมีรับสั่งให้ช่วยกันขับไล่พม่าออกจากเชียงแสนให้ได้ แล้วพระองค์เสด็จกลับถึงกรุงเทพ ฯ ได้ไม่นานก็ทิวงคต

พอถึงฤดูแล้งกองทัพหลวงมีเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์และเจ้าพระยายมราช พร้อมด้วยกองทัพของเชียงใหม่ นครลำปาง น่าน และเวียงจันทน์ ยกไปตีเชียงแสนใน พ.. ๒๓๔๗ แต่ปรากฏว่าการบังคับบัญชากองทัพไม่เด็ดขาด เนื่องจากมีหลายกองทัพ ส่วนกองทัพวังหลวงที่ยกขึ้นไปนั้นก็      ไม่ตั้งใจทำสงครามอย่างเต็มที่ เนื่องจากถูกปรับโทษจากการยกไปตีเชียงใหม่ล่าช้า ตั้งล้อมเชียงแสนอยู่ได้ ๒ เดือน กองทัพชาวใต้ ได้เลิกทัพกลับเสีย ก่อนคงเหลือแต่กองทัพของลานนาไทย และ         เวียงจันทน์ยังคงล้อมเชียงแสนต่อไป จนกระทั่งในที่สุดชาวเชียงแสนลักลอบเปิดประตูเมืองให้เนื่องจากเห็นว่าเป็นพวกเดียวกันจึงสามารถ ยึดเชียงแสนไว้ได้ เจ้ากาวิละสั่งให้รื้อกำแพงเมือง และทำลายเมืองเพื่อมิให้เป็นที่มั่นของข้าศึกอีกต่อไป แล้วอพยพครอบครัวชาวเชียงแสนลงมา ได้ครอบครัวประมาณ ๒๐,๐๐๐ คนแบ่งออกเป็น ๕ ส่วน ส่งลงไปกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้ไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ในปัจจุบัน ที่เหลือส่งไปเวียงจันทน์ น่าน เชียงใหม่และนครลำปาง ชาวเชียงแสนที่อพยพลงมาอยู่ที่นครลำปางอาศัยอยู่แถบบริเวณวัดปงสนุกสืบต่อลูกหลานกันมา จนถึงปัจจุบัน

ความดีความชอบในครั้งนี้เจ้ากาวิละได้รับบำเหน็จความชอบมาก โปรดให้สถาปนาเป็นพระเจ้าเชียงใหม่มีฐานะเป็นเจ้าประเทศราช หลังจากตีเมืองเชียงแสนได้กองทัพของลานนาไทยประกอบด้วย เชียงใหม่ นครลำปาง แพร่ เมืองเถิน น่าน รวมทั้งกองทัพของลานช้างได้แก่          หลวงพระบางและเวียงจันทน์ ร่วมกันยกขึ้นไปตีเมืองยอง เมืองลื้อ เมืองเขิน เมืองเชียงตุง เมืองเชียงรุ้ง เมืองเชียงแขง ตลอดจนบรรดาหัวเมืองต่างๆ แถบไทยใหญ่ ลื้อ เขิน มาเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของกรุงเทพฯ ทำให้อาณาเขตของ ไทยแผ่ออกไปกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งกว่าครั้งใดๆ นับตั้งแต่นั้นมาบรรดาหัวเมืองลานนาไทย ทั้งปวงจึงปลอดภัยจากการรุกรานของพม่าข้าศึก  ด้วยเดชะพระบารมีแห่งบรมราชจักรีวงศ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น